ซ่อมได้แม้อยู่ไกลโพ้น! ยาน Voyager 1 พร้อมวิ่งต่อยาว ๆ หลัง NASA ซ่อมไอพ่นหลักที่หยุดทำงานนานกว่า 21 ปี

NASA ประกาศความสำเร็จและสร้างปาฏิหาริย์อีกครั้ง โดยพวกเขาสามารถเปิดใช้งานเครื่องยนต์ไอพ่นของยานสำรวจ Voyager 1 ให้สามารถกลับมาทำงานได้สำเร็จอีกครั้ง เหตุผลหลัก ๆ ในการกู้ชีพเครื่องยนต์ไอพ่นนี้คือทีมงานต้องการมีระบบขับเคลื่อนสำรองไว้ใช้งานต่อ เนื่องจากเครื่องยนต์ไอพ่นชุดปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาท่อส่งเชื้อเพลิงอุดตัน ซึ่งอาจทำให้มันไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไปภายในฤดูใบไม้ร่วงนี้ ซึ่งอีกหนึ่งความท้าทายคือต้องซ่อมให้เสร็จก่อนที่เสาส่งสัญญาณวิทยุที่ใช้ติดต่อกับยาน Voyager 1 และ 2 จะต้องหยุดทำงานนานหลายเดือนเพื่ออัปเกรดครั้งใหญ่

ในปี 2004 เครื่องยนต์ไอพ่นหลักของ Voyager 1 ที่ใช้ควบคุมทิศทางของยานหยุดทำงานเนื่องจากมีปัญหาของฮีตเตอร์ภายใน ซึ่งไม่สามารถซ่อมแซมได้ ทีมวิศวกรจึงต้องพึ่งพาเครื่องยนต์สำรองในการควบคุมทิศทางของยานมาจนถึงปัจจุบัน และจากนั้นทีมวิศวกรได้ตัดสินใจพยายามซ่อมเครื่องยนต์ไอพ่นหลักอีกครั้งโดยตรวจสอบวงจรไฟฟ้าและพบว่าปัญหาน่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงในวงจรการจ่ายไฟฟ้าสำหรับฮีตเตอร์ ถ้าสามารถแก้ไขและเปิดเครื่องฮีตเตอร์ได้ใหม่ เครื่องยนต์หลักจะกลับมาทำงานได้อีกครั้ง และสามารถใช้ได้หากเครื่องยนต์สำรองที่ใช้งานมานานเริ่มมีการอุดตันของเชื้อเพลิง

ทีมวิศวกรเผชิญกับความท้าทายอย่างมากเนื่องจากต้องทำงานภายใต้แรงกดดันด้านเวลา ก่อนที่เสาสัญญาณในออสเตรเลียจะหยุดทำงานตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2025 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2026 และการทดสอบเครื่องยนต์ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอย่างมาก เนื่องจากคำสั่งจากโลกไปถึงยานต้องใช้เวลาถึง 23 ชั่วโมง และหลังจากการส่งคำสั่งไปพบว่าอุณหภูมิของเครื่องยนต์ไอพ่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั่นแสดงว่าฮีตเตอร์กลับมาทำงานได้อีกครั้งแล้ว

“มันเป็นช่วงเวลาที่สุดยอดมาก เครื่องยนต์นี้เคยถูกมองว่าใช้งานไม่ได้แล้ว แต่นี่คืออีกครั้งที่การพยายามของเราประสบผลสำเร็จ มันเป็นการช่วยชีวิตยาน Voyager อีกครั้ง” ทอดด์ บาร์เบอร์ หัวหน้าทีมการขับเคลื่อนยานของ JPL กล่าว

เรื่องน่ารู้คือยาน Voyager นั้นไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ไอพ่นเพื่อขับเคลื่อนยาน เพราะยานได้อาศัยแรงเหวี่ยงจากแรงโน้มถ่วงของดาวในระบบสุริยะเพื่อเดินทางออกไปในอวกาศ ซึ่งปัจจุบันยาน Voyager 1 เดินทางด้วยความเร็ว 17 กิโลเมตรต่อวินาที หรือ 61,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เครื่องยนต์ไอพ่นของยานนั้นใช้ในการควบคุมตำแหน่งการหันของเสาอากาศยาน เพื่อให้ส่งข้อมูลกลับมายังโลกได้

โดยยาน Voyager 1 ได้เดินทางออกจากโลกเมื่อวันที่ 5 กันยายน 1977 ด้วยภารกิจสำรวจดาวเคราะห์วงนอกของระบบสุริยะจักรวาล ซึ่งปัจจุบันยานได้เดินทางมาเกือบ 50 ปีแล้ว และปัจจุบันยานอยู่ห่างจากโลกเกือบ 25,000 ล้านกิโลเมตร อยู่ในเขตอวกาศที่เชื่อมต่อระหว่างระบบสุริยจักรวาลกับอวกาศภายนอก ซึ่งคาดว่ายานจะสามารถทำงานได้จนถึงปี 2036 ก่อนที่เชื้อเพลิงจาก Radioisotope Thermoelectric Generators (RTGs) จะหมดลง และอยู่ไกลเกินกว่าระยะที่ NASA Deep Space Network จะสามารถสื่อสารกับยานได้

ที่มา nasa

Advertisement

Sidebar Search
Popular Now
Loading

Signing-in 3 seconds...

Signing-up 3 seconds...