ทุกสิ่งในจักรวาลล้วนมีจุดเริ่มต้น และจุดจบ… กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ของ NASA และ ESA ได้ถ่ายภาพช่วงเวลาสุดท้ายของดาวยักษ์แดงเอาไว้ได้ก่อนจะกลายเป็นดาวแคระขาว แม้จะดูยาวนานมากในสายตามนุษย์ แต่สำหรับจักรวาลแล้วปรากฏการณ์นี้เปรียบเสมือนการกระพริบตาเท่านั้น
สำหรับภาพนี้แสดงให้เห็นถึงเนบิวลาดาวเคราะห์ Kohoutek 4-55 ที่อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก ห่างจากโลกไปประมาณ 4,600 ล้านปีแสง ในกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) กับปรากฏการณ์ในช่วงสุดท้ายก่อนดาวยักษ์แดงจะสิ้นอายุไข และใช้พลังงานไปจนหมด กับการปลดปล่อยชั้นก๊าซในกระบวนการนิวเคลียร์ฟิวชันครั้งสุดท้าย จนทำให้แกนกลางดาวเกิดความร้อนสูงจัดกลายเป็นภาพก๊าซเรืองแสงที่งดงามเหมือนที่เราเห็นดั่งภาพ
จากภาพสีที่เราเห็น สีแดง และส้มบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของไนโตรเจน ส่วนบริเวณสีเขียวคือไฮโดรเจน และสีน้ำเงินก็คือออกซิเจน NASA ยังอธิบายว่า Kohoutek 4-55 มีรูปร่างหลายชั้นที่แปลกประหลาด คือ ประกอบไปด้วยชั้นก๊าซจาง ๆ ล้อมรอบด้านในของวงแหวนที่ส่องสว่างอีกที ซึ่งทั้งหมดยังถูกห่อหุ้มด้วย halo ของไนโตรเจนที่แตกตัวเป็นไอออน
หลังจากผ่านไปเพียงไม่กี่หมื่นปีสิ่งที่เหลือไว้ก็จะเป็นเพียงปลายทางสุดท้ายของวิวัฒนาการดาว นั้นก็คือ ‘ดาวแคระขาว’ ที่ไม่ส่องสว่างอีกเลยนั้นเอง
ไม่เพียงจะเป็นภาพสุดท้ายของดาวยักษ์แดงในเนบิวลาดาวเคราะห์ Kohoutek 4-55 เท่านั้น แต่ภาพนี้ยังเป็นภาพสุดท้ายที่ถ่ายโดยกล้อง ‘Wide Field and Planetary Camera 2’ หรือ WFPC2 ที่ติดตั้งอยู่กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลตั้งแต่ปี 1993 ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็น Wide Field Camera 3 ในปี 2009
ซึ่งก่อนจะถอด WFPC2 ออกจากฮับเบิล เพียง 10 วันเท่านั้น กล้องตัวนี้ก็ได้รวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการสร้างภาพนี้เอาไว้ได้ครับ ก็ถือว่าเป็นการส่งท้ายที่น่าประทับใจทีเดียวสำหรับกล้องที่ทำงานอย่างหนักมานานถึง 16 ปี…
ที่มา: PetaPixel