ล่าสุด Meta ได้ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) และพันธมิตรหลายภาคส่วนในประเทศไทย ทั้ง ETDA, ก.ล.ต มาร่วมกันยกระดับการป้องกัน และปราบปรามการฉ้อโกงออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ มุ่งสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับผู้ใช้งานชาวไทยพร้อมเปิดตัวเครื่องมือ และฟีเจอร์ใหม่ ๆ เสริมประสิทธิภาพการทำงานร่วมกัน และรับมือกับกลโกงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของ Meta ในการสร้างประสบการณ์ออนไลน์ที่ปลอดภัยและเชิงบวก โดยบริษัทได้ลงทุนกว่า 30,000 ล้านเหรียญ ในทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อนำมาพัฒนาทีมงานผู้เชี่ยวชาญราว 40,000 คนทั่วโลก และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย รวมถึงการใช้ AI ในการตรวจจับ และลบบัญชีปลอม และเนื้อหาที่เป็นอันตราย
ทาง Meta ยังได้ระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการสกัดกั้นการสร้างบัญชีปลอมในแต่ละวันหลายล้านบัญชี ไตรมาส 4 ปี 2024 ได้ดำเนินการลบบัญชีปลอมไปแล้ว 1,400 ล้านบัญชี และในปีที่ผ่านมาลบไปแล้ว 408,000 บัญชีเชื่อมโยงกับการหลอกให้หลงรัก (Romance Scam) รวมถึงลบเพจ และบัญชีที่มีส่วนร่วมในการฉ้อโกงกว่า 116,000 รายการ
แนวทางการดำเนินงานที่ครอบคลุมของ Meta มุ่งเน้น 4 ด้านหลัก ได้แก่ :
1. ยกระดับการป้องกันภัยบนแพลตฟอร์ม : ปกป้องแพลตฟอร์มจากภัยลวงออนไลน์
2. ขัดขวางผู้กระทำผิด : เพิ่มความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายเพื่อสกัดกั้นมิจฉาชีพ
3. ผนึกความร่วมมือ : ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยี ธนาคาร และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย
4. มอบการดูแลความปลอดภัยให้ผู้ใช้งาน : ส่งมอบเครื่องมือ การควบคุม และให้ความรู้เพื่อป้องกันตนเอง
ฟีเจอร์ และเครื่องมือเด่นที่ Meta นำเสนอ และพัฒนาเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้
– เครื่องมือตรวจจับบัญชีม้า : พัฒนาร่วมกับ CIB เพื่อให้ผู้ใช้สามารถตรวจจับและรายงานบัญชีต้องสงสัยได้ง่ายขึ้น
– การยืนยันตัวตนสองขั้นตอน (Two-Factor Authentication) : เพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงบัญชี
– การแจ้งเตือนการเข้าสู่ระบบ (Login Alerts) : แจ้งเตือนเมื่อมีการพยายามเข้าสู่ระบบจากอุปกรณ์ที่ไม่รู้จัก
– ฟีเจอร์ Security Checkup : ช่วยให้ผู้ใช้อัปเดตการตั้งค่าความปลอดภัยของบัญชีได้สะดวก
– เทคโนโลยีจดจำใบหน้า : ป้องกันการนำภาพบุคคลสาธารณะไปใช้ในโฆษณาหลอกลวง
– เครื่องมือกู้คืนบัญชีที่ถูกแฮก : ช่วยเหลือผู้ใช้ในการได้บัญชีคืน
– การตรวจจับและลบบัญชีปลอม : ระบบ AI ทำงานเชิงรุกในการจัดการบัญชีปลอม
– Safer Message Requests บน Instagram : จำกัดการส่งข้อความจากบุคคลที่ไม่ใช่เพื่อน โดยอนุญาตให้ส่งข้อความแรกได้เพียงข้อความเดียว และต้องรอการตอบรับก่อนสนทนาต่อ
– การแจ้งเตือนผู้ใช้ : กระตุ้นให้ระมัดระวังเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าบน Instagram, Messenger และ WhatsApp
– เครื่องมือรายงานบัญชีต้องสงสัยสำหรับภาคธุรกิจ : เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาการปลอมแปลงตัวตนและการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
– Brand Rights Protection : ช่วยธุรกิจค้นหาและตรวจสอบเนื้อหาที่อาจละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
– ข้อกำหนดใหม่สำหรับผู้ลงโฆษณา : ผู้ลงโฆษณารายใหม่ต้องยืนยันหมายเลขโทรศัพท์ที่เชื่อมกับบัญชีโฆษณาก่อนเผยแพร่โฆษณา
ในปี 2568 Meta ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย (ก.ล.ต.) เพื่อจัดการฝึกอบรมร่วมเกี่ยวกับเครื่องมือปกป้องสิทธิ์แบรนด์ของ Meta เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานในตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างการปกป้องธุรกิจและทรัพย์สินแบรนด์เพื่อปกป้องแบรนด์จากการแอบอ้างโดยมิจฉาชีพ
พร้อมกันนี้ยังมีความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในการจัดโรดโชว์เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยออนไลน์และการต่อสู้กับภัยลวงโดยมีการจัดกิจกรรมในกว่า 32 จังหวัดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 นอกจากนี้ Meta ยังได้เปิดตัวแคมเปญต่อต้านการหลอกลวง ‘Legit or Leg It’ ใน 7 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศ รวมถึงกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ ETDA ในประเทศไทย แคมเปญนี้ประกอบด้วยสื่อออนไลน์ที่จัดทำร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย และครีเอเตอร์ชาวไทยเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์ทั่วไป รวมถึงวิธีการตรวจจับมิจฉาชีพออนไลน์ แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยมีการเข้าถึง (Reach) ทั้งหมด 224 ล้านครั้งทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยครีเอเตอร์ชาวไทยมีส่วนสร้างการเข้าถึงในแคมเปญนี้กว่า 18.3 ล้านครั้ง
นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หนึ่งในหน่วยงานพันธมิตรและผู้เข้าร่วมเสวนาภายในงานในหัวข้อ “สร้างอนาคตดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับประเทศไทย” กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทุกกิจกรรมขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและการทำธุรกรรมออนไลน์กันแทบทั้งสิ้น แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ ช่วยอำนวยความสะดวก ให้เราสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ติดต่อสื่อสาร ทำงาน ตลอดจนทำธุรกิจได้รวดเร็ว แต่สิ่งที่ตามมา คือ ภัยหรือปัญหาที่แฝงมากับโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกงและอาชญากรรมออนไลน์ ETDA มุ่งส่งเสริมให้คนไทยทำธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย พร้อมเดินหน้าพัฒนาการดำเนินงานในหลายมิติ ตั้งแต่การกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล การรับแจ้งเรื่อง ส่งต่อเรื่องร้องเรียน และการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้คนไทยรู้เท่าทัน รับมือเป็น การทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกันสร้างความแข็งแกร่งด้านทักษะ เสริมเกราะป้องกันภัยออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการส่งต่อเรื่องร้องเรียนร่วมกันผ่านศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ (1212 ETDA) เพื่อแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ให้ครอบคลุมมากสุด รวมถึงมุ่งเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยรู้ทันปัญหาออนไลน์ ร่วมลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ในทุกมิติแก่ประชาชนมาแล้วกว่า 42 จังหวัดทั่วประเทศ แม้โลกดิจิทัลหมุนผ่านไปอย่างไร เราสามารถหมุนตามให้ทันได้ หากเราพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ รู้จักใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ ไม่เป็นภัย เชื่อว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างพร้อมบูรณาการระดมความร่วมมือ พัฒนามาตรการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่จะช่วยลดความสูญเสียของประชาชนจากภัยออนไลน์”
นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวเสริมว่า “ก.ล.ต. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการปกป้อง ผู้ลงทุนจากภัยคุกคามในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะการหลอกลวงด้านการเงินการลงทุนที่มีความซับซ้อนและพัฒนาการของรูปแบบอย่างรวดเร็ว ซึ่งภารกิจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรปี 2568 – 2570 โดย ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเชิงรุกในการส่งเสริมความรู้เท่าทันภัยการลงทุนผ่านความร่วมมือกับภาคีทั้งภาครัฐและ เอกชนเพื่อรับมือกับความท้าทายจากภัยคุกคามที่เกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนากลไกที่จะช่วยธุรกิจและ หน่วยงานในตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในการปกป้องธุรกิจจากภัยคุกคามในโลกดิจิทัล นอกจากนี้ก.ล.ต. ยังให้ความสำคัญกับการบูรณาการข้อมูลเชิงลึกจากภาคเอกชนเพื่อใช้ในการเฝ้าระวังภัยการลงทุน การส่งเสริมการ ใช้เทคโนโลยีเพื่อคัดกรองข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถตัดสินใจด้านการลงทุนด้วยความรอบครอบและปลอดภัยยิ่งขึ้น ความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. และ Meta ถือเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับความมั่นคงทางการเงินและสร้างระบบนิเวศออนไลน์ที่ปลอดภัยและน่าเชื่อถือสำหรับคนไทย ซึ่งทั้งสององค์กรได้ทำงานเชิงรุกร่วมกันอย่างต่อเนื่อง”
ด้าน พ.ต.ต. ธัญพีรสิษฐ์จุลพิภพหรือ “สารวัตรแจ๊ะ” จากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (IDMB) ผู้เข้าร่วมเสวนาได้กล่าวเสริมว่า “ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ โดยเฉพาะวิวัฒนาการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเหมือนกับว่าแทบจะเป็นธุรกิจเฟรนไชน์ประเภทหนึ่งไปแล้ว ต้นตอของปัญหานี้ก็มีหลายอย่างเกี่ยวพันกันเป็นทอดๆ การแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่จับได้ครั้งสองครั้งแล้วจะจบ มันเป็นเหมือนสงครามที่ต้องต่อสู้กับมันในทุกมิติ สิ่งสำคัญ ผมมองว่าคือ “ความร่วมมือ” ในทุกภาคส่วนไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ทาง Meta เองส่วนสำคัญในการช่วยในทะลายสะพานโจรเหล่านี้ สิ่งที่เป็นรูปธรรม คือ กลุ่มหางานที่หลอกคนไปทำงานที่คอลเซ็นเตอร์ ถูกสืบสวนและเอาลงทั้งเครือข่าย ทำให้เกิดความคืบหน้าในการทำงานและสกัดกั้นกลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้ได้มากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นด้วยครับ”