จอร์จ อี. สมิธ ผู้ร่วมคิดค้นเซนเซอร์รับภาพ ‘CCD’ เสียชีวิตในวัย 95 ปี

THE SUMMARY:

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีถ่ายภาพดิจิทัลในปัจจุบัน หลายคนอาจคุ้นเคยกับเซนเซอร์แบบ CMOS ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในสมาร์ตโฟน และกล้องดิจิทัลมากกว่า แต่หากย้อนกลับไปในยุคแรกของการถ่ายภาพดิจิทัล เซนเซอร์รับภาพแบบ ‘CCD (Charge-Coupled Device)’ ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่วางรากฐานให้กับวงการ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวเศร้าเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2025 ที่ผ่านมา ดร. จอร์จ อี. สมิธ (Dr. George Elwood Smith) หนึ่งในผู้ร่วมคิดค้นเทคโนโลยี CCD ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 95 ปี ณ รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา

เทคโนโลยี CCD ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1969 โดยสมิธ และ วิลลาร์ด เอส. บอยล์ (Willard S. Boyle) เพื่อนร่วมงานขณะทำงานที่ Bell Labs ทั้งคู่ได้นำหลักการของปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก ซึ่งไอน์สไตน์เคยอธิบายไว้ว่าพลังงานแสงสามารถปลดปล่อยอิเล็กตรอนจากพื้นผิวโลหะ มาประยุกต์ใช้กับเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อพัฒนาเซนเซอร์รับภาพที่สามารถจัดเก็บ และประมวลผลข้อมูลแสงเป็นภาพดิจิทัลได้เป็นครั้งแรก

CCD
ภาพเซนเซนเซอร์รับภาพ CCD | ภาพจาก: Radiant Vision Systems

แม้เทคโนโลยี CCD จะถูกแทนที่ด้วย CMOS ในตลาดทั่วไป เนื่องจากต้นทุนที่ต่ำกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า และผลิตได้ง่ายกว่า แต่ CCD ยังคงถูกในงานเฉพาะทางอย่าง สายงานดาราศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และการถ่ายภาพความละเอียดสูง เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 1990 รวมถึงกล้องดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง Large Synoptic Survey Telescope (LSST) ที่มีความละเอียดถึง 3,200 ล้านพิกเซล

ความแตกต่างหลักของทั้ง 2 เทคโนโลยี คือ CCD จะรวบรวมข้อมูลแสงจากแต่ละพิกเซล และส่งเป็นสัญญาณแอนะล็อกก่อนเข้าสู่วงจรแปลงเป็นสัญญาณดิจิทัล ในขณะที่ CMOS มีวงจรแปลงสัญญาณยัดไว้ในแต่ละพิกเซล ทำให้ถ่ายโอนข้อมูลได้รวดเร็วกว่า (แต่ก็ข้อเสียเรื่องสัญญาณรบกวน และคุณภาพโดยรวมที่ด้อยกว่าในยุคแรก)

จากประสบการณ์ผู้ที่เคยใช้งานกล้องเซนเซอร์ CCD ต่างให้คำจำกัดความว่า “ให้ภาพที่สีสันสวยงาม และใกล้เคียงฟิล์มมากกว่า” แต่ในปัจจุบัน CMOS ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนทำให้มีคุณภาพเทียบเท่าหรืออาจสูงกว่าในหลายด้าน แต่ก็ยังมีช่างภาพที่นิยมในกล้อง CCD อยู่

Eastman Kodak Company
กล้องดิจิทัลรุ่นต้นแบบของทาง Eastman Kodak ในปี 1975 ก็ใช้เซนเซอร์รับภาพจากเทคโนโลยี CCD เช่นกัน | ภาพจาก: Eastman Kodak Company

ในปี 2009 ดร. สมิธ และบอยล์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์สำหรับการพัฒนาเซนเซอร์ CCD ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นถึง “ดวงตาอิเล็กทรอนิกส์” แห่งโลกดิจิทัล

ดร. สมิธ เกษียณจาก Bell Labs ในปี 1986 และใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยการล่องเรือรอบโลกกับคู่ชีวิตของเขา เจเน็ต เมอร์ฟี (Janet Murphy) เป็นเวลาถึง 17 ปี

© Prolineserver 2010, Wikipedia/Wikimedia Commons (cc-by-sa-3.0)
ภาพของสมิธ และบอยล์จากงานแถลงข่าวรางวัลโนเบลประจำปี 2009 | ภาพจาก: Prolineserver 2010, Wikipedia/Wikimedia Commons

การจากไปของดร. สมิธ ถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการถ่ายภาพดิจิทัลเลยก็ว่าได้ เพราะหากไม่มีเทคโนโลยี CCD เกิดขึ้นในอดีต วงการถ่ายภาพอาจไม่ได้ก้าวหน้าแบบทุกวันนี้ก็เป็นได้…

ที่มา: PetaPixel

'ช่างภาพ' ที่เขียนคอนเทนต์ได้ หาเงินซื้อเปียกให้แมว 3 ตัว ที่บ้าน

Advertisement

Sidebar Search
Popular Now
Loading

Signing-in 3 seconds...

Signing-up 3 seconds...