AI ให้เสียงแก่ผู้ไร้เสียง เมื่อวิดีโอ Avatar ของเหยื่อฆาตกรรมถูกนำมาใช้ประกอบในชั้นศาล

เมื่อเทคโนโลยี AI ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เรื่องราวครั้งนี้ถึงขั้นเอาไปใช้ในชั้นศาลเลยทีเดียวครับ เมื่อวิดีโออวาตาร์ (Avatar) ของเหยื่อที่ถูกฆาตกรรมจากเหตุการณ์บนท้องถนนในปี 2021 ถูกนำมาใช้ประกอบในชั้นศาล ทำเอาผู้พิพากษาถึงกับรู้สึกเห็นใจถึงการกระทำครั้งนี้

จากรายงานของสำนักข่าว 404 Media คริสโตเฟอร์ เพลคีย์ (Christopher Pelkey) ถูกยิงเสียชีวิตในปี 2021 โดยกาเบรียล พอล ฮอร์คาซิตาส (Gabriel Paul Horcasitas) ในเหตุการณ์อาละวาดบนท้องถนน และในส่วนหนึ่งของคำแถลงจากครอบครัวเหยื่อ ได้มีการใช้เทคโนโลยี AI สร้างรูปลักษณ์ และเสียงของเหยื่อเป็นอวตาร์เพื่อพูดคุยกับมือปืนโดยตรง โดยยังแสดงให้เห็นว่าหากทั้งสองพบกันในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน พวกเขาอาจจะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้ นอกจากนี้ตัวบุคลิกเพลคีย์ที่สร้างโดย AI ยังให้คำแนะนำในการใช้ชีวิตกับผู้คนทั่วไป โดยแนะนำว่าให้ใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด และบอกรักคนสำคัญอยู่เสมอ

โดยคนที่สร้างวิดีโอ AI ตัวนี้ขึ้นมาก็คือพี่สาวของเหยื่อ สเตซี เวลส์ (Stacey Wales) จากความช่วยเหลือจากสามีของเธอ ทิม เวลส์ (Tim Wales) และเพื่อน สก็อตต์ เยนต์เซอร์ (Scott Yentzer) โดยตัวของเธอเองเป็นผู้เขียนสคริปต์ทั้งหมด และยังมีการจัดเตรียมภาพถ่ายที่จะนำมาใช้จำลองใบหน้า รวมถึงใช้เสียงของเหยื่อจากที่บันทึกไว้หลายเดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต แล้วให้ AI วิเคราะห์สร้างเป็นวิดีโอขึ้นมา

ผมชอบวิดีโอ AI นั้นมาก ขอบคุณที่พวกคุณทำสิ่งนี้ขึ้นมาแม้ว่าพวกคุณจะรู้สึกโกรธแค่ไหน แต่ผมก็ได้ยินเสียงของการให้อภัยในนั้น และผมเชื่อว่าคุณฮอร์คาซิตาสเองก็น่าจะรู้สึกได้เช่นเดียวกันกับผม

ผู้พิพากษา ท็อดด์ แลง (Todd Lang) แห่งศาลสูง Maricopa Arizona แสดงปฏิกิริยาเชิงบวกต่อวิดีโอดังกล่าว

ผู้พิพากษาแลง ถึงกับกล่าวว่าปกติแล้วเขาจะเรียกชื่อบุคคลด้วยนามสกุลตามธรรมเนียมศาลเท่านั้น แต่วันนี้จากวิดีโอ AI ทำให้เขารู้สึกเหมือนได้รู้จักกับเหยื่อจริง ๆ จึงอยากเรียกชื่อเขาว่าคริสโตเฟอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีวิดีโอของคริสโตเฟอร์ที่พูดถึงการให้อภัยฮอร์คาซิตาส ทำให้เห็นบุคลิกของเขาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงครอบครัวของเขาอีกด้วย เพราะแม้ครอบครัวจะรู้สึกโกรธแค้นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือเรียกร้องให้มีการลงโทษสูงสุดแค่ไหน แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้คริสโตเฟอร์ได้พูดอีกครั้ง และให้อภัยกับผู้ซึ่งเป็นฆาตกรอีกด้วย

เรื่องนี้จบลงด้วยผู้พิพากษาแลงตัดสินลงโทษให้ฮอร์คาซิตาสผู้กระทำความผิดต้องจำคุกถึง 10 ปี 6 เดือน ซึ่งมากกว่าที่อัยการได้ร้องขอ (ที่ 9 ปี) ในคดีทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยไม่เจตนา ซึ่งตามรายงานของทั้ง 404 Media และ The Associated Press เผยว่ากฎหมายรัฐแอริโซนามีความยืดหยุ่นสูงในเรื่องรูปแบบการให้การในศาลของฝั่งผู้เสียหาย

สเตซี เวลส์ พี่สาวของเหยื่อยังกล่าวว่า “เป้าหมายของเราคือทำให้ผู้พิพากษาน้ำตาไหล และทำให้คริสโตเฟอร์มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งในฐานะที่ดูเหมือนมนุษย์จริง ๆ”

ในขณะที่ทนายความของฮอร์คาซิตาสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Associated Press ว่าได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์โทษจำคุกทันทีหลังจากจบการพิจารณาคดี โดยระบุกับศาลอุทธรณ์ว่าการใช้วิดีโอ AI เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินโทษในคดีนี้เหมาะสมหรือไม่

กรณีคดีของคริสโตเฟอร์ เพลคีย์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวยังจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับจริยธรรม และผลกระทบหากมีคนใช้ AI ในชั้นศาลมากขึ้นในอนาคต

ที่มา: PetaPixel, 404 Media และ The Associated Press

'ช่างภาพ' ที่เขียนคอนเทนต์ได้ หาเงินซื้อเปียกให้แมว 3 ตัว ที่บ้าน

Advertisement

Sidebar Search
Popular Now
Loading

Signing-in 3 seconds...

Signing-up 3 seconds...