สวิตเซอร์แลนด์โชว์นวัตกรรม ‘พิมพ์ 3 มิติ’ สร้างหอคอยศิลปะสุดเจ๋ง ถอดแล้วไปตั้งใหม่ได้ !

หมู่บ้านเล็ก ๆ กลางเทือกเขาแอลป์สวิสอย่าง Mulegns ตอนนี้มีแลนด์มาร์กใหม่ที่น่าทึ่งแล้วนะ นั่นก็คือ “Tor Alva” หรือ หอคอยสีขาวที่สูงที่สุดที่สร้างด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2025 ที่ผ่านมานี่เอง โดยมูลนิธิวัฒนธรรม Origen ร่วมมือกับ ETH Zurich สร้างสรรค์ผลงานชิ้นโบว์แดงนี้ขึ้นมา

ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2025 เป็นต้นไป เจ้าหอคอยสุดล้ำนี้ก็เปิดให้เข้าชมแบบมีไกด์ทุกวันเลยนะ และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2025 เป็นต้นไปที่นี่จะกลายเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะและการแสดงต่าง ๆ ด้วย Tor Alva จะปักหลักอยู่ที่ Mulegns ประมาณ 5 ปี จากนั้นก็สามารถถอดแยกชิ้นส่วนแล้วไปประกอบใหม่ที่อื่นได้ด้วยนะ แต่ยังไม่มีข่าวว่าที่ต่อไปจะเป็นที่ไหน

เจาะลึกเบื้องหลัง สร้างหอคอยสุดเจ๋งด้วย “คอนกรีตนิ่ม”

การก่อสร้างหอคอยสีขาวนี้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2024 โดยเริ่มจากการพิมพ์เสาของสถาปัตยกรรม Tor Alva ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เสา 8 ต้นแรกของชั้นล่างถูกพิมพ์โดยหุ่นยนต์ที่อัดคอนกรีตนิ่มเป็นชั้น ๆ ที่ ETH Zurich ผลลัพธ์ที่ได้คือเสากลวงที่บิดเป็นเกลียวเชื่อมต่อกันเป็นชุด ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างรองรับเลย และเหล็กเสริมที่จำเป็นก็ถูกใส่เข้าไปในกระบวนการผลิตด้วยหุ่นยนต์ตั้งแต่แรกแล้ว

เบนจามิน ดิลเลนเบอเกอร์ และ ไมเคิล ฮันส์เมเยอร์ สองสถาปนิกคนเก่งคือผู้ออกแบบหอคอยสีขาว หรือ Tor Alva แห่งนี้ ทีม Digital Building Technologies ของ ETH Zurich ร่วมกับสถาบันอื่น ๆ ได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีนี้ การประกอบเสาของ Tor Alva เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2024 ตามไทม์ไลน์ของไมเคิล ฮันส์เมเยอร์

การพิมพ์ 3 มิติ กลายเป็นเครื่องมือหลักที่ทำให้สถาปัตยกรรมของหอคอยสีขาวเป็นจริงขึ้นมาได้ และคอนกรีตนิ่มนี่แหละคือหัวใจสำคัญ หุ่นยนต์จะอัดคอนกรีตนิ่มเป็นชั้นบาง ๆ ผ่านหัวฉีด และมันก็สามารถสร้างเสากลวงที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตได้เองจนถึงความสูงที่กำหนด วัสดุที่เป็นคอนกรีตนิ่มนี้มีความยืดหยุ่นพอที่จะเชื่อมต่อกันเป็นเนื้อเดียว และเมื่อแข็งตัวอย่างรวดเร็ว มันก็สามารถรองรับการอัดขึ้นรูปในชั้นถัดไปได้อย่างสบาย ๆ ทีมออกแบบบอกว่าการพิมพ์ 3 มิติยังช่วยลดปริมาณมวลและซีเมนต์ ซึ่งหมายถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างการผลิตด้วยนะ

หอคอยศิลปะและวัฒนธรรม สูงที่สุดและถอดประกอบได้

Tor Alva สูงถึง 30 เมตร รวมฐานแล้ว อาจจะครองตำแหน่งอาคารที่สร้างด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่สูงที่สุดในโลกเลยก็ได้นะ อีกหนึ่งจุดเด่นที่ทีมออกแบบภูมิใจนำเสนอคือ ไม่จำเป็นต้องใช้แบบหล่อ เพราะคอนกรีตไม่ได้ถูกเทลงไป แต่ถูกอัดเป็นชั้น ๆ โดยหุ่นยนต์

ที่ว้าวไปกว่านั้นคือ เจ้าหอคอย 3 มิตินี้ ถอดประกอบได้ง่ายสุด ๆ ทีมออกแบบคิดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เพราะพวกเขาอาจจะอยากย้าย Tor Alva ไปสร้างที่อื่นหลังจากใช้งานในเทือกเขาแอลป์สวิสครบ 5 ปีแล้ว การออกแบบให้เป็นแบบโมดูลาร์ที่ช่วยให้ส่วนประกอบแต่ละชิ้นสามารถประกอบและถอดแยกได้ง่าย และเชื่อมต่อกันด้วยสกรูที่ถอดออกได้แทนที่จะใช้กาว ทำให้การย้ายไม่ใช่เรื่องยากเลย

สัมผัสความอลังการของยุคบาโรกด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย

หอคอยสีขาว หรือ Tor Alva สูง 30 เมตร ตั้งตระหง่านอยู่บนภูเขา Julien ในหมู่บ้าน Mulegns ของสวิตเซอร์แลนด์ ออกแบบมาเพื่อ Fundaziun Origen ให้เป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะ ดนตรี และการแสดงละคร เสากลวงที่เพิ่งพิมพ์ออกมาสะท้อนถึงพื้นที่ภายในอาคาร ส่วนด้านนอกไม่มีหน้าต่าง แต่เปิดโล่ง ประดับด้วยโครงสร้างไขว้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากกระบวนการพิมพ์ 3 มิติ

Tor Alva เป็นผลผลิตของการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ การผลิตแบบดิจิทัล วิศวกรรมโครงสร้าง และวิทยาศาสตร์วัสดุที่ค่อย ๆ ถือกำเนิดขึ้นจากการใช้เทคนิคการอัดคอนกรีตนิ่ม ตั้งแต่แรกเริ่มหอคอยนี้ก็สื่อถึงลักษณะของการติดตั้งงานศิลปะอยู่แล้ว จึงเหมาะมากที่จะใช้เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตส่วนตัว งานศิลปะ และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

มองดูการออกแบบแล้ว Tor Alva ประกอบด้วยเสา 32 ต้นที่แตกแขนงออกไป ห่อหุ้มห้องที่เป็นนามธรรมและบรรยากาศต่าง ๆ ผู้เข้าชมสามารถเดินขึ้นบันไดแนวตั้งจากพื้นดิน และเมื่อถึงชั้นบนสุด จะพบกับสถานที่จัดคอนเสิร์ตที่มีเพดานโค้ง พร้อมทิวทัศน์พาโนรามาทั่วหุบเขา Julier ทีมออกแบบบอกว่าลักษณะของหอคอยสีขาวนี้ชวนให้นึกถึงฝีมือช่างก่อสร้างในยุคบาโรกของ Grison ที่ถูกนำกลับมามีชีวิตอีกครั้งด้วยการพิมพ์ 3 มิติ

ที่มา designboom

Advertisement

Sidebar Search
Popular Now
Loading

Signing-in 3 seconds...

Signing-up 3 seconds...