PainWaive เกมฝึกสมองรักษาอาการปวดเรื้อรัง ไม่ต้องพึ่งยา

THE SUMMARY:

อาการปวดเส้นประสาทเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกมายาวนาน โดยการรักษาที่มีประสิทธิภาพมักต้องพึ่งพายาระงับปวดที่มีผลข้างเคียงสูง โดยเฉพาะกลุ่มยาโอปิออยด์ (Opioids) ที่เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจ เสพติดยา หรือโรคซึมเศร้าได้ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย (University of New South Wales) ได้พัฒนาแนวทางใหม่ที่อาจเปลี่ยนวิธีการจัดการกับความเจ็บปวดได้

ทีมนักวิจัยภายใต้การนำของศาสตราจารย์ซิลเวีย กัสติน (Prof. Sylvia Gustin) ได้สร้าง PainWaive เกมอินเทอร์แอคทีฟที่ทำงานร่วมกับชุดหูฟัง EEG สำหรับใช้ที่บ้าน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้การปรับคลื่นสมองให้กลับสู่ภาวะสมดุล ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการปวดจากเส้นประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องใช้ยา

อุปกรณ์สำหรับเกม Interactive PainWaive

กระบวนการทำงานภายในสมองของผู้ที่มีอาการปวดเส้นประสาท

จากงานวิจัยพื้นฐานของศาสตราจารย์กัสติน พบว่าผู้ที่มีอาการปวดเส้นประสาท (neuropathic pain) จะมีรูปแบบคลื่นสมองที่ผิดปกติ ได้แก่ 

  • การเพิ่มขึ้นของคลื่น theta ที่ช้า
  • การลดลงของคลื่น alpha 
  • การเพิ่มขึ้นของคลื่น beta ที่เร็วผิดปกติ 

โดยความผิดปกติเหล่านี้มีผลต่อการทำงานของธาลามัส ซึ่งเป็นศูนย์กลางการส่งผ่านข้อมูลความรู้สึก รวมถึงความเจ็บปวด ไปยังสมองส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวกับการรับรู้และการเคลื่อนไหว

จากข้อสังเกตเหล่านี้ จึงกลายคำถามที่ว่า หากเราสามารถปรับคลื่นสมองเหล่านี้ให้กลับสู่สมดุลได้ จะสามารถลดความเจ็บปวดได้หรือไม่ คำถามนี้นำไปสู่การพัฒนาเกม PainWaive ซึ่งออกแบบมาเพื่อใช้ร่วมกับชุดหูฟัง EEG และแอปพลิเคชันบนแท็บเล็ต โดยใช้หลักการของการฝึกสมองผ่านการตอบสนองแบบเรียลไทม์ หรือที่เรียกว่า neurofeedback

แผนภาพการทำงานคร่าว ๆ ของเกม PainWaive

การทดลองและผลลัพธ์เบื้องต้น

โครงการทดลองระยะแรกมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดบริเวณกระจกตา (corneal neuropathic pain) เป็นหลัก ซึ่งมีลักษณะอาการปวดและไวต่อความรู้สึกบริเวณดวงตา ใบหน้า หรือศีรษะ โดยผู้เข้าร่วมทดลองจะได้รับชุดอุปกรณ์ซึ่งประกอบด้วยหูฟัง EEG แท็บเล็ตพร้อมเกม PainWaive และคำแนะนำด้านจิตใจ เช่น การฝึกผ่อนคลายหรือการระลึกถึงความทรงจำเชิงบวก เพื่อช่วยปรับคลื่นสมองให้เป็นปกติ

หลังจากใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผลลัพธ์พบว่า ผู้เข้าร่วม 3 ใน 4 รายมีอาการปวดลดลงอย่างชัดเจน โดยในบางรายมีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือเหนือกว่าการใช้ยาระงับปวดในกลุ่มโอปิออยด์

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังคงมีข้อจำกัดในด้านขนาดกลุ่มตัวอย่างและระยะเวลาการทดลอง จึงยังไม่อาจสามารถสรุปผลได้ในวงกว้างหรือแยกผลของยาหลอก (placebo effect) ได้อย่างชัดเจน แต่ทีมวิจัยยืนยันว่าผลลัพธ์ที่ได้เป็นสัญญาณเชิงบวกที่สนับสนุนการเดินหน้าสู่การทดลองในระดับที่ใหญ่ขึ้นต่อไป

ความน่าสนใจของ PainWaive

สิ่งที่ทำให้ PainWaive น่าจับตามองไม่ใช่เพียงแค่ประสิทธิภาพในการลดอาการปวดโดยไม่ใช้ยา แต่ยังรวมถึงการออกแบบเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ง่ายในชีวิตประจำวัน โดยผู้ใช้งานสามารถจัดการความเจ็บปวดของตนเองได้จากที่บ้าน และทีมวิจัยยังสามารถติดตามผลผ่านระบบอัปโหลดข้อมูลแบบออนไลน์

ที่สำคัญคือ ด้วยการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ จึงทำให้ทีมวิจัยสามารถลดต้นทุนของหูฟัง EEG ให้เหลือเพียงประมาณ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 9,700 บาท ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะขยายการใช้งานออกไปในวงกว้างได้ในอนาคต

อนาคตของการจัดการอาการปวดเส้นประสาทเรื้อรัง

แนวทางของ PainWaive อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติรูปแบบการจัดการอาการปวดเรื้อรัง โดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่ต้องพึ่งพาการใช้ยาและสามารถฝึกฝนได้ด้วยตนเอง ความสำเร็จของการทดลองในระยะแรกนี้อาจนำไปสู่ทางเลือกใหม่ที่ปลอดภัย ยั่งยืน และเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้นสำหรับผู้ป่วยทั่วโลก

ศาสตราจารย์กัสตินและทีมวิจัยกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาระยะที่สอง โดยตั้งเป้าที่จะยืนยันประสิทธิภาพของเกม PainWaive ในกลุ่มประชากรที่กว้างขึ้นและเงื่อนไขที่หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งหากผลลัพธ์ยังคงน่าพอใจ PainWaive อาจกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโรคปวดเรื้อรังในอนาคต

ที่มา ScienceDaily Gizmodo InterestingEngineering

Advertisement

Sidebar Search
Popular Now
Loading

Signing-in 3 seconds...

Signing-up 3 seconds...