ทีมนักวิจัยจากจีนรายงานความสำเร็จครั้งสำคัญในวงการแพทย์ หลังสามารถปลูกถ่ายตับจากหมูที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยตับดังกล่าวถูกปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยที่เสียชีวิตทางสมองเมื่อปี 2024 และได้ผลลัพธ์ว่าสามารถทำงานในร่างกายมนุษย์ได้เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วันโดยไม่มีอาการปฏิเสธจากระบบภูมิคุ้มกันหรือการอักเสบสะสม โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำ Nature
การปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่มนุษย์ หรือ Xenotransplantation กำลังเป็นที่สนใจในวงการแพทย์ทั่วโลก เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการอวัยวะปลูกถ่ายมากกว่าจำนวนอวัยวะที่สามารถบริจาคได้ โดยมีผู้ป่วยกว่า 100,000 คนในสหรัฐอเมริกาที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ และในจำนวนนั้นกว่า 9,000 คนต้องการตับ
ดร. หลิน หวัง หนึ่งในผู้วิจัยจากโรงพยาบาลซีจิง เมืองซีอาน เผยว่าการทดลองนี้เป็นก้าวสำคัญของวงการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยก่อนหน้านี้ มีนักวิจัยที่สามารถปลูกถ่ายไตและหัวใจจากหมูดัดแปลงพันธุกรรมสู่ร่างกายมนุษย์ได้สำเร็จแล้วแต่ยังไม่สามารถทำได้ในตับ เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนสูงและทำหน้าที่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกรองเลือด ขจัดสารพิษ ผลิตน้ำดี หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ซึ่งหน้าที่เหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยระบบไหลเวียนเลือดสองทาง ได้แก่ เส้นเลือดแดงตับที่นำเลือดที่มีออกซิเจนมาเลี้ยง และหลอดเลือดดำพอร์ทัลที่นำเลือดที่อุดมด้วยสารอาหารจากระบบย่อยอาหารเข้าสู่ตับ ดังนั้นการนำอวัยวะจากสัตว์มาใช้ทดแทนของมนุษย์จึงเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง
ในกรณีนี้ ทีมนักวิจัยจีนได้ทำการดัดแปลงพันธุกรรมของตับจากหมูพันธุ์ Bama Miniature ถึง 6 จุดก่อนนำมาปลูกถ่าย โดยยังคงเก็บตับของมนุษย์ไว้ในร่างกายร่วมด้วยเพื่อศึกษาการทำงานของอวัยวะหมู ผลการทดลองพบว่าตับหมูสามารถทำงานร่วมกับร่างกายมนุษย์ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่แน่ใจว่าตับหมูจะสามารถทำหน้าที่แทนตับมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ เนื่องจากปริมาณสารที่ผลิตโดยตับอาจแตกต่างกัน
แม้ว่าการทดลองนี้จะสิ้นสุดลงหลังจากผ่านไป 10 วันตามความต้องการของครอบครัวผู้ป่วย แต่นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของวงการแพทย์ ซึ่งอาจนำไปสู่ทางเลือกใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคตับวายเฉียบพลันที่ต้องการอวัยวะทดแทนอย่างเร่งด่วน นักวิจัยเชื่อว่าในอนาคตอวัยวะจากหมูอาจสามารถใช้เป็นสะพานเชื่อมไปสู่การปลูกถ่ายอวัยวะถาวรสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีตัวเลือกอื่น
ที่มา CNN