ใส่สมาร์ตวอตช์แต่ไม่รู้จะใช้อะไร? นี่คือ 5 ฟีเจอร์ด้านสุขภาพที่คนไทยมักมองข้าม

THE SUMMARY:

เราอยู่ในยุคที่ผู้คนใส่สมาร์ตวอตช์กันมากขึ้น นอกจากดูการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันต่าง ๆ สมาร์ตวอตช์ในปัจจุบันก็สามารถตรวจจับสุขภาพได้มากขึ้นด้วย โดยนี่คือ 5 ฟีเจอร์ด้านสุขภาพที่สมาร์ตวอตช์สามารถเช็กให้เราได้

ตรวจจับการนอนหลับ

คนไทยจำนวนมากมีพฤติกรรมนอนดึก นอนไม่สนิท หรือหลับไม่ลึก นอนไม่ครบ 7-8 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งสัมพันธ์กับโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดัน และภาวะซึมเศร้า การรู้พฤติกรรมการนอนผ่านสมาร์ตวอตช์จึงช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันทีโดยไม่ต้องพึ่งยา ช่วยป้องกันโรคเรื้อรังในระยะยาวได้

สมารวอตช์หลายแบรนด์สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการนอนของคุณอย่างละเอียด เช่น ระยะเวลาในการนอนลึก (deep sleep), การนอนตื้น (light sleep), REM (ช่วงฝัน) และช่วงที่ตื่นระหว่างคืน แม้ว่าเราจะไม่รู้ตัวเลยก็ตาม สมาร์ตวอทช์บางรุ่นยังสามารถให้คำแนะนำโดยใช้ AI ช่วยวิเคราะห์แนวโน้มการนอนและปรับตารางเวลาให้เหมาะสมได้อีกด้วย

ภาพตัวอย่างวัดการนอนหลับของอุปกรณ์ Huawei

ข้อมูลจาก Johns Hopkins Medicine ระบุว่าอุปกรณ์ช่วยตรวจจับการนอนหลับนั้นสามารถช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถปรับพฤติกรรมการนอนได้จริงเมื่อรับรู้ข้อมูลว่าเรานอนดีหรือไม่ดีอย่างไร แม้ไม่สามารถใช้แทนการตรวจจับการนอนในทางการแพทย์ได้ 100% เลยก็ตาม

การรู้ว่าตัวเองนอนหลับไม่ลึก ตื่นบ่อย หรือหลับช้า มีความสำคัญต่อการปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การเปลี่ยนเวลาเข้านอน ลดการใช้หน้าจอช่วงก่อนนอน หรือการหาทางผ่อนคลายก่อนนอน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมทั้งในแง่ของสุขภาพกายและจิตใจ

วัดออกซิเจนในเลือด (SpO2)

ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SpO2) บ่งบอกถึงประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินหายใจและหัวใจ สมาร์ตวอตช์หลายรุ่นสามารถวัด SpO2 ได้ทั้งขณะตื่นและนอนหลับ สามารช่วยตรวจสอบความผิดปกติเบื้องต้นได้ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) เป็นต้น

ฟีเจอร์ SpO2 บนสมาร์ตวอตช์จะใช้แสงอินฟราเรดในการวัดระดับออกซิเจนในเลือดผ่านข้อมือ ซึ่งช่วยบ่งบอกประสิทธิภาพของระบบการไหลเวียนโลหิตและการหายใจในชีวิตประจำวัน ค่าปกติของ SpO2 อยู่ที่ประมาณ 95–100% หากต่ำกว่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะขาดออกซิเจนหรือโรคทางระบบหายใจ เช่น โรคปอด หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งสมาร์ตวอตช์สามารถแจ้งเตือนให้ผู้ใช้รับรู้และรับการตรวจสุขภาพได้ทันที

ในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังด้านทางเดินหายใจ ฟีเจอร์นี้ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เพราะช่วยให้เราสามารถตรวจจับระดับออกซิเจนที่ลดลงได้โดยที่เราไม่รู้ตัว ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลวหรืออาการเฉียบพลันได้ จากงานวิจัยในวารสาร Nature พบว่า Apple Watch S6 สามารถวัดค่า SpO2 ได้อย่างแม่นยำเมื่อเทียบกับเครื่องมือทางการแพทย์

เตือนให้ขยับร่างกาย

โดยเฉลี่ยแล้ว คนไทยนั่งทำงานหรือนั่งอยู่กับที่มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เสี่ยงต่อปัญหาเรื่องระบบไหลเวียนโลหิตและการเผาผลาญ การได้ลุกขึ้นเดินเล็กน้อยทุกชั่วโมงสามารถลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ความดัน และเบาหวานได้จริงในระยะยาว

ทั่วไปแล้ว สมาร์ตวอตช์สามารถตรวจจับการอยู่นิ่งของผู้ใช้ หากนั่งหรือไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เช่น 60 นาที ระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานลุกขึ้นเดิน หรือขยับร่างกายเบา ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากการนั่งนิ่งนานเกินไป การขยับร่างกายเป็นระยะ ๆ จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ และลดภาวะอักเสบในร่างกาย เหมาะกับพนักงานออฟฟิศหรือผู้สูงวัยที่มักนั่งนานโดยไม่รู้ตัว

ไม่นานมานี้มีงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ออกมา ระบุว่า การนั่งนานหรือการเคลื่อนไหวที่น้อย ส่งผลให้สมองฝ่อลงด้วย ทำให้ฟีเจอร์เตือการเคลื่อนไหวถือว่าเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่มีความสำคัญมาก ทำให้ผู้ใช้งานขยับตัวเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ

ติดตามรอบเดือน

ฟีเจอร์ติดตามรอบเดือนของสมาร์ตวอตช์ทำให้ผู้ใช้งานสามารถบันทึกข้อมูลรอบเดือนได้ง่าย ๆ เช่น วันที่เริ่ม-สิ้นสุดของรอบเดือนนั้น ๆ, อาการที่เกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน และการคาดการณ์รอบเดือนรอบถัดไปซึ่งมีผลต่อการวางแผนการตั้งครรภ์ เป็นต้น

อุปกรณ์สวมใส่ในปัจจุบันหลายแบรนด์อย่าง Huawei, Apple Watch จะใช้ AI ช่วยในการคำนวนรอบเดือนพร้อมกับแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ การบันทึกข้อมูลรอบเดือน หากไม่เป็นไปตามปกติทำให้เราคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย เช่น หากรอบเดือนมาช้า ขาดหายบ่อยมากเกินไปอาจเป็นสัญญาณของโรค PCOS หรือถุงน้ำรังไข่หลายใบ, ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล เป็นต้น

สำหรับใครต้องการมีเจ้าตัวเล็กก็สามารถใช้ข้อมูลของรอบเดือนมาช่วยคำนวนเวลาตกไข่ซึ่งสัมพันธ์กับรอบเดือนโดยตรง ช่วยให้เราวางแผนการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย

วัดความเครียด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยมีภาวะความเครียดสูง ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตทั้งร่างกายอย่างโรคหัวใจ และทางจิตใจโดยตรงด้วย ดังนั้น หากเรารู้ทันว่าตอนนี้เรากำลังมีความเครียดสูงก็จะช่วยป้องกันผลกระทบข้างต้นได้

การวัดความเครียดอาศัยค่าความแปรปรวนของหัวใจหรือ Heart Rate Variability ​(HRV) ซึ่งเป็นดัชนีทางสุขภาพที่สำคัญ สามารถบ่งบอกได้ถึงการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ สมาร์ตวอตช์หลายรุ่นสามารถวัดค่า HRV และประเมินระดับความเครียดในแต่ละวัน พร้อมแนะนำเทคนิคการหายใจเพื่อช่วยลดความเครียดแบบเรียลไทม์ได้ด้วย

ค่าบ่งชี้

  • HRV สูง หมายถึง ร่างกายมีการฟื้นตัวดี เหมาะกับการออกกำลังกายหรือใช้พลัง
  • HRV ต่ำ หมายถึง ร่างกายมีความล้า ควรพักผ่อนเพิ่มหรืองดกิจกรรมที่ใช้ร่างกายหนักเกินไป

มีงานวิจัยระบุว่าหากค่า HRV ต่ำเรื้อรังอาจบ่งชี้ภาวะเครียดเรื้อรัง, ภาวะซึมเศร้า และความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้ด้วย จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตและองค์กรวิจัยหลายแห่ง พบว่า นักศึกษาไทยกว่า 30% มีภาวะเครียดเรื้อรังแต่ไม่รู้ตัว ดังนั้น ค่า HRV จึงเป็นตัวช่วยให้รู้เท่าทันภาวะร่างกายก่อนจะสายเกินไป โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น นอนดึก พักไม่พอ หรือมีความเครียดจากงาน/ครอบครัว เป็นต้น

อนาคตของสมาร์ตวอตช์ไม่ใช่แค่เรื่องการแจ้งเตือนอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่จะสามารถเป้นผู้ช่วยอัจฉริยะที่จะคอยติดตามสุขภาพของเราพร้อมกับแจ้งเตือนสิ่งที่พบเพื่อให้เราสามารถพบแพทย์ได้ทันหากมีเรื่องไม่ดีเกินขึ้นมาได้ด้วย

Advertisement

Sidebar Search
Popular Now
Loading

Signing-in 3 seconds...

Signing-up 3 seconds...