ความดีงามอย่างหนึ่งในซีรีส์ สงครามส่งด่วน Mad Unicorn คือทีมงานทำการบ้านเรื่องราวในวงการขนส่งมาเป็นอย่างดี เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เห็นในเรื่องก็เป็นเทคโนโลยีจริงที่ใช้ในวงการขนส่ง ซึ่งเราจะมาเจาะลึกเครื่องคัดแยกพัสดุอัตโนมัติทั้ง 3 เครื่องที่อยู่ในเรื่องนี้ และ PDA ที่ไรเดอร์ของ Thunder Express ออกไปรับพัสดุให้เข้าใจกัน
ก่อนที่เราจะไปเจาะเรื่องเครื่องจักร มาเข้าใจเรื่องระบบการขนส่งพัสดุ ขนส่งสินค้ากันก่อน โดยเส้นทางการขนส่งตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางจะแยกเป็น 3 ส่วนงานหลัก ๆ คือ
ต้นทุนของขนส่งที่แท้จริง จะต้องแทร็กการส่งทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบว่าพัสดุ 1 ชิ้นส่งกี่ต่อ ต้นทุนแต่ละช่วงเป็นเท่าไหร่ เช่นพัสดุถูกรับโดยไรเดอร์ 1 คน แล้วไรเดอร์ 1 คนซึ่งมี Fixed Cost ต่อเที่ยวที่แน่นอนนั้นสามารถรับของมาจริงได้กี่ชิ้น หารแล้วต่อชิ้นเป็นต้นทุนเท่าไหร่ คิดวนแบบนี้ไปถึงขนส่งระหว่างฮับตรง Middle Miles ว่าขนส่งจริงได้เท่าไหร่ ถ้าเต็มคันรถคือต้นทุนต่อชิ้นจะถูกที่สุด แต่ถ้าส่งได้ไม่เต็มคันรถ ต้นทุนต่อชิ้นก็จะสูงขึ้น ไปจนถึงปลายทาง Last Miles ซึ่งถ้าขนส่งถึงผู้รับไม่ได้ ก็จะมีต้นทุนก็ส่งสินค้ากลับรวมเข้ามาอีก และยังมีค่าไฟของ Sorting Center ที่เดือนหนึ่งตกกันเป็นหลักล้านบาทด้วย
ในสงครามส่งด่วน มีเครื่องคัดแยกพัสดุอัตโนมัติหรือ ASM (Auto Sorting Machine) ให้เห็นทั้งหมด 3 เครื่องคือ
เครื่องจักรตัวแรกที่เห็นในเรื่องนี้ แม้ว่าจะดูเรียบง่ายที่สุด แต่ก็มีเทคโนโลยีครบถ้วนสำหรับการขนส่ง โดยตัวเครื่องมีลักษณะเป็นสายพาน (Conveyor Belt) ลำเลียงกล่องพัสดุที่คละกันไปคัดแยกโดยผ่านส่วนที่เป็น Matrix Sorter หรือฐานที่เป็นลูกกลม ๆ ทำหน้าที่ปัดพัสดุไปซ้ายหรือขวาเพื่อคัดแยกไปยังปลายทางที่ถูกต้อง ซึ่งตัว Matrix Sorter นั้นมีราคาค่อนข้างสูง อาจจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 แสนบาท ขึ้นอยู่กับสเปคและผู้ขายจากจีน โดยระบบอัตโนมัติจะถูกตั้งโปรแกรมไว้ว่ามีปลายทางทั้งหมดกี่แห่ง และแต่ละปลายทางคือช่อง (Chute) ใด เมื่อพัสดุผ่านเครื่อง ระบบจะอ่านข้อมูลและสั่งให้เครื่องปัดพัสดุไปยังช่องปลายทางที่ถูกต้องโดยอัตโนมัติ
ข้อดีของการใช้ระบบ Belt และ Matrix Sorter คือ ช่วยลดจำนวนคนที่ต้องมายืนจ้อง Airway Bill (AWB) หรือใบปะหน้ากล่องเพื่ออ่านรหัสปลายทางและตัดสินใจคัดแยก ซึ่งจะเห็นในตอนสุดท้ายของซีรีส์เมื่อสายพานพัง ก็ต้องเกณฑ์คนมาอ่านรหัสปลายทางแทน
การคัดแยกแบบแมนนวล (ใช้คน) ต้องอาศัยการอ่านรหัสบน Airway Bill และจำให้ได้ว่ารหัสนั้นหมายถึงปลายทางใด ซึ่งอาจมีปลายทางที่ต้องคัดแยกเกือบร้อยปลายทางในแต่ละพื้นที่ การทำแบบนี้ต้องใช้ความจำและความเข้าใจ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาด (Error rate) ในการคัดแยก โดยปกติอาจพบได้ประมาณ 5% หากใช้พนักงานใหม่ที่ยังจำรหัสปลายทางไม่ได้ การคัดแยกด้วยมือจะยากมากและใช้เวลานานหลายวินาทีต่อกล่อง
แม้ว่าเครื่อง ASM ตัวแรกนี้จะดูเป็นเครื่องที่ค่อนข้างเบสิก เหมาะสมกับกล่องขนาดกลาง ไม่เหมาะกับของที่หนักเกินไป เบาเกินไป หรือเป็นของที่บอบบาง แต่ก็มีระบบ DWS (Dimension Weight System) อยู่ในตัวด้วย (โดยสังเกตจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ของระบบที่แสดงในเรื่อง) ทำให้สามารถวัดขนาดกล่อง (กว้าง ยาว สูง) และน้ำหนักได้ครบถ้วน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการคำนวนค่าส่ง คือยิ่งกล่องใหญ่ก็ยิ่งแพง หรือยิ่งหนักก็ยิ่งแพง
เครื่องนี้ที่เห็นเป็นเหมือนสไลเดอร์ขนาดใหญ่ โดยเราเห็นในชีรีส์จะเป็นโซน Outbound (โซนที่พัสดุออกจากศูนย์คัดแยก) โดยมีการวางเลย์เอาท์ถือว่าดี เพราะมีรถเข้ามาจอดเทียบใกล้เครื่องสไลเดอร์ในบริเวณ Outbound Staging ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายพัสดุที่ถูกคัดแยกแล้วขึ้นรถได้เลย โดยไม่ต้องลากของมาที่หน้า Dock หรือประตูเชื่อมกับรถขนส่งอีก ซึ่งเสียเวลามากกว่า
ในตอนสุดท้ายของซีรีส์มีการพูดถึงการเร่งความเร็วสายพาน ที่คุณคณินต้องการให้เร่งเร็วขึ้น หากเร่งเร็วเกินไปอาจทำให้พัสดุ ตกผิดช่อง (Missort) ได้ เนื่องจากบางครั้งพัสดุอาจอยู่ติดกันบนสายพาน ทำให้เครื่องอ่านพลาดได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงที่ถ้าเร็วเกินไปจะทำให้มีปัญหาได้
เครื่องนี้เห็นในภาพมุมกว้างของ Sorting Center ที่ Thunder Express ซึ่งเครื่องคัดแยกที่ใหญ่ที่สุดในเรื่อง โดยมีทั้งระบบ DWS (Dimension Weight System) และ CBS (Crossbelt Sorter) คือมีช่องคัดแยกขนาดใหญ่จำนวนมาก ในแต่ละช่องจะมีถุงสวมเอาไว้ พัสดุจะถูกดีดลงในช่อง เมื่อถุงเต็ม เครื่องจะมีสัญญาณแจ้งเตือนให้คนเข้าไปจัดการปิดปากถุง ซีล และติดลาเบลระบุปลายทาง เช่น วัฒนา ห้วยขวางที่ถุงนั้น จากนั้นนำถุงที่ซีลแล้วไปใส่บนสายพานซึ่งจะลำเลียงไปยังจุดต่อไป และนำถุงใบใหม่มาสวมใส่ในช่องเดิม
ในฉากที่เห็น เครื่องนี้ยังไม่มีพัสดุวิ่งอยู่เลย ไฟแสดงสถานะยังเป็นสีแดง ซึ่งหมายความว่าเครื่องยังไม่ได้ถูกใช้งานจริง ณ ขณะนั้น แม้ว่าจะประกอบเสร็จแล้วก็ตาม
ในฉากเดียวกัน ยังเห็นส่วนที่เป็น Induction ซึ่งเป็นจุดที่พัสดุเข้าสู่ระบบ อาจมีการเก็บน้ำหนัก ขนาด อ่านบาร์โค้ด ก่อนเข้าสู่สายพาน และยังเห็นภาพพนักงานกำลังแกะพัสดุออกจากถุงและนำมาวางเรียงบนสายพานเพื่อเข้าสู่กระบวนการ
เครื่อง PDA (Personal Digital Assistant) ที่ปรากฏในซีรีส์ ถูกนำมาใช้ในกระบวนการ Pick up ซึ่งเป็นการไปรับพัสดุจากผู้ส่ง ซึ่งปรากฎครั้งแรกซีนที่เครื่องวางเรียงกันเป็นตับ เสียบสายชาร์จ และยื่นให้พนักงานนำออกไปใช้ สำหรับสแกนข้อมูล และเป็นอุปกรณ์สำหรับเรียกใช้แอปพลิเคชันของระบบหลังบ้าน
เครื่อง PDA ในประเทศจีน (โดยเฉพาะที่เซินเจิ้น) มีราคาถูกมาก บางรุ่นราคาแค่ประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 650 บาท แต่เครื่องเกรดดีที่ใช้ในไทยอาจมีราคาสูงกว่า และอายุการใช้งานแบตเตอรี่ เป็นปัจจัยสำคัญของเครื่อง PDA หากแบตหมดต้องหยุดทำงานเพื่อรอชาร์จ ทำให้ต้องมีแบตเตอรี่สำรองไว้เปลี่ยนเพื่อทำงานต่อเนื่อง ความบางของเครื่องในซีรีส์ทำให้สงสัยเรื่องอายุการใช้งานแบตเตอรี่
และอีกเครื่องหนึ่งที่เห็นในเรื่องคือเครื่องพิมพ์ลาเบลขนาดเล็ก ที่ติดไปกับไรเดอร์เพื่อพิมพ์ Airway Bill ติดหน้ากล่อง โดยเป็นยี่ห้อ TSC Zenpert ซึ่งรับคำสั่งจาก PDA พิมพ์ออกมาได้
เรื่องราวในโลกการขนส่งยังมีรายละเอียดอีกมาก ถ้ามีโอกาสเราจะเจาะลึกเรื่องราวของการส่ง Next Day หรือ Same Day ที่เป็นอีกหนึ่งประเด็นในสงครามส่งด่วนให้ฟังกัน ว่ามันมีความซับซ้อนอย่างไร และต้องเตรียมตัวแค่ไหน ถึงจะสามารถทำส่งด่วนในวันรุ่งขึ้นหรือส่งภายในวันได้