ผู้เชี่ยวชาญชี้ คอนเทนต์สุขภาพจิตกว่าครึ่งใน TikTok เป็นข้อมูลปลอม

THE SUMMARY:

ปัจจุบันผู้คนกำลังค้นหาข้อมูลเรื่องสุขภาพผ่านโซเชียลมีเดียกันมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่สื่อต่างประเทศรายงานว่าข้อมูลที่ถูกเผยแพร่โดยครีเอเตอร์บนโซเชียลนั้นเป็นข้อมูลที่ผิดตั้งแต่โรคไปจนถึงวิธีการรักษา

ตอนนี้บนโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่เนื้อหาด้านสุขภาพผิด ๆ สูง เช่น การกินส้มในห้องน้ำช่วยลดความเครียดได้ หรือคำแนะนำเรื่องอาหารที่ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันแน่ชัดอย่างหญ้าฝรั่น แมกนีเซียมไกลซิเนต และโหระพาในการบรรเทาความเครียด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าคำแนะนำด้านสุขภาพจิตที่ไม่มีประโยชน์ เป็นอันตราย ถือเป็นเรื่องที่ต้องตำหนิและน่ากังวล รวมถึงมีการเรียกร้องให้รัฐบาลมีความเข้มงวดด้านกฎระเบียบเพื่อปกป้องประชาชนจากข้อมูลที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ

The Guardian ได้รวบรวมวิดีโอ 100 แรกภายใต้แท็ก #mentalhealthtips จาก TikTok มาให้นักจิตวิทยา จิตแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการได้ชมกันพบว่ามีข้อมูลที่นำเสนอแบบผิด ๆ อยู่เยอะมาก โดย 52 คลิปจาก 100 คลิปให้ข้อมูลที่ผิด มีความคลาดเคลื่อน และไม่มีประโยชน์ บางคลิปใช้คำแนะนำจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์มารองรับ บางคลิปแม้ว่าจะพูดถึงการบำบัดที่รวดเร็วเกินจริง ซึ่งอาจทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิด

ความเห็นบางส่วนจากผู้เชี่ยวชาญ

  • Dan Poulter (อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขและจิตแพทย์ NHS) กล่าวว่าบางคลิปบอกว่าอาการในชีวิตประจำวัน เช่น เหนื่อย หมดไฟ เป็นอาการทางจิต ซึ่งเป็นการทำให้เข้าใจผิดอย่างมาก
  • Amber Johnston (นักจิตวิทยาที่ผ่านการรับรองจาก British Psychological Society) กล่าวว่า วิดีโอเหล่านี้สร้างความเข้าใจผิดโดยทำให้ PTSD เป็นเรื่องที่เหมือน ๆ กันทุกคน ทั้งที่จริงแล้วอาการและวิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ไม่เหมาะกับการนำมาสรุปภายในระยะเวลาเพียง 30 วินาทีเท่านั้น
  • David Okai (นักวิจัยด้านจิตเวชศาสตร์ King’s College London) บอกว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์มีการใช้ศัพท์เชิงบำบัดที่คลุมเครือ สร้างความสับสนต่อความเข้าใจโรคทางจิต ไม่มีความชัดเจนมากพอ

ด้านโฆษกของ TikTok ระบุว่าแพลตฟอร์มมีการจัดการเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง และมีการร่วมมือกับ NHS และ WHO อย่างใกล้ชิด และมีการลบคลิปที่เนื้อหาไม่เหมาะสมถึง 98% แต่ก็ยังมีหลุดออกมาอยู่

ที่มา The Guardian, ภาพจาก Pixahive

Advertisement

Sidebar Search
Popular Now
Loading

Signing-in 3 seconds...

Signing-up 3 seconds...