MenstruAI ผ้าอนามัยตรวจสุขภาพจากเลือดประจำเดือนครั้งแรกของโลก

THE SUMMARY:

ทีมนักวิจัยจาก ETH Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้พลิกโฉมหน้าวงการสุขภาพผู้หญิง ด้วยการพัฒนา “MenstruAI” นวัตกรรมแรกของโลกที่สามารถตรวจหาสัญญาณสุขภาพจากเลือดประจำเดือนได้โดยตรงผ่านผ้าอนามัยชนิดแผ่น ด้วยวิธีที่ไม่เจ็บตัว ใช้งานง่าย และต้นทุนต่ำ เพื่อยกระดับการเข้าถึงการตรวจสุขภาพของผู้หญิงทั่วโลก

แม้เลือดประจำเดือนจะถูกมองว่าเป็นของเสียมานานหลายศตวรรษ แต่งานวิจัยใหม่นี้กลับชี้ให้เห็นว่า ของเสียเหล่านั้นสามารถกลายเป็นแหล่งข้อมูลทางสุขภาพที่สำคัญได้ โดยเฉพาะในบริบทของการตรวจคัดกรองโรคที่ส่งผลต่อผู้หญิงโดยตรง เช่น การอักเสบ โรคมะเร็งนรีเวช และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

หัวใจของนวัตกรรม MenstruAI อยู่ที่แถบทดสอบชีวภาพ (Lateral Flow Assay) คล้ายกับที่ใช้ในชุดตรวจโควิด ATK ที่เราคุ้นเคยกัน แต่ในกรณีนี้ แถบทดสอบจะฝังอยู่ในผ้าอนามัย ทำให้ผู้ใช้งานสามารถสวมใส่ได้ตามปกติ เมื่อเลือดประจำเดือนสัมผัสกับแถบทดสอบ มันจะทำปฏิกิริยากับแอนติบอดีเฉพาะและแสดงผลเป็นสี โดยความเข้มของสีจะบ่งบอกถึงความเข้มข้นของสารชี้วัดในเลือด

ตอนนี้ ต้นแบบของ MenstruAI สามารถตรวจหาสารชีวภาพสำคัญได้ 3 ชนิด ได้แก่

  • CRP (C-reactive protein): ตัวบ่งชี้การอักเสบหรือติดเชื้อ
  • CEA (Carcinoembryonic antigen): ตัวชี้วัดที่พบในมะเร็งนรีเวช
  • CA-125: สารที่เกี่ยวข้องกับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และมะเร็งรังไข่

โดยผลจากแถบทดสอบสามารถอ่านได้ง่าย ๆ ด้วยตาเปล่า แต่ถ้าหากต้องการความแม่นยำยิ่งขึ้น ก็สามารถใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพและวิเคราะห์ผลผ่านแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะก็ได้ โดยแอปนี้ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยวิเคราะห์ระดับสีและแปลผลอย่างเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังคงเน้นย้ำว่าอุปกรณ์ได้รับการออกแบบให้สามารถใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแอปพลิเคชัน เพื่อให้เหมาะกับพื้นที่ที่ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี

ดร. อิงเงอ แฮร์มันน์ (Inge Herrmann) หัวหน้าห้องปฏิบัติการ The Ingenuity Lab Zurich และผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า เป้าหมายหลักของทีมคือการสร้างนวัตกรรมที่เข้าถึงได้ง่าย มีต้นทุนต่ำ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระดับประชากร เพื่อขยายโอกาสในการตรวจสุขภาพเบื้องต้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

ผลการทดลองในห้องแล็บพบว่า MenstruAI สามารถตรวจจับสารชี้วัดในเลือดประจำเดือนได้อย่างแม่นยำพอ ๆ กับการตรวจจากเลือดในหลอดเลือดดำ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ในปัจจุบัน ขั้นตอนถัดไปคือการทดลองใช้อุปกรณ์กับกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ในชีวิตจริง เพื่อประเมินความเหมาะสมในการใช้งานจริง และตรวจสอบความแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจในห้องปฏิบัติการ 

ลูคัส ดอสนง (Lucas Dosnon) หัวหน้าทีมวิจัยและนักศึกษาปริญญาเอกจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและกระบวนการของ ETH Zurich กล่าวว่า อุปกรณ์นี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อแทนที่การตรวจทางห้องแล็บหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่มีเป้าหมายเพื่อทำหน้าที่เป็น “ระบบเตือนภัยล่วงหน้า” ที่ช่วยชี้เบาะแสเบื้องต้นให้กับผู้หญิง และกระตุ้นให้ไปพบแพทย์เมื่อมีความผิดปกติ

ทีมนักวิจัยยังเชื่อว่า นวัตกรรมนี้จะมีบทบาทสำคัญในการลดการตีตราเกี่ยวกับประจำเดือน และส่งเสริมความเสมอภาคทางสุขภาพให้กับผู้หญิงทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดแคลนการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

ที่มา ETH Zurich NewAtlas MedicalXpress

Advertisement

Sidebar Search
Popular Now
Loading

Signing-in 3 seconds...

Signing-up 3 seconds...