แรงงานไทยวิกฤต ! สศช. เตือนเด็กจบใหม่เตรียมรับมือตกงาน สูงถึง 89% เหตุทักษะไม่ตรงใจตลาด

สถานการณ์แรงงานในไตรมาสแรกของปี 2568 ดูเหมือนจะไม่ค่อยสู้ดีนัก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กจบใหม่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการว่างงานสูงลิ่ว! นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า ผู้มีงานทำโดยรวมลดลง 0.5% เหลือ 39.4 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรมที่การจ้างงานหดตัวต่อเนื่องถึง 3.1%

ผลสำรวจจากต่างประเทศอย่าง Hult International Business School ร่วมกับ Workplace Intelligence ชี้ชัดว่า ผู้บริหารกว่า 89% มีแนวโน้มจะเลี่ยงจ้างเด็กจบใหม่! สาเหตุหลักๆ เลยคือ ขาดประสบการณ์จริง (60%) ไม่มีทักษะที่เหมาะสม (51%) ทำงานเป็นทีมไม่เป็น (55%) และที่สำคัญคือ มารยาททางธุรกิจไม่ดี (50%)

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับบ้านเราอย่างแรง ! TDRI วิเคราะห์ประกาศรับสมัครงานออนไลน์แล้วพบว่า มีแค่ 22.3% เท่านั้นที่ไม่ต้องการประสบการณ์ ทำให้เห็นว่านายจ้างไทยก็ให้ความสำคัญกับทักษะและการทำงานจริงไม่แพ้กัน ไม่แปลกใจเลยที่อัตราการว่างงานของกลุ่มคนอายุน้อยและวุฒิสูงจะพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ

เลขาฯ สศช. ย้ำชัดว่า เด็กจบใหม่ต้องรีบปรับตัว เตรียมความพร้อมทั้งทักษะที่จำเป็นและทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน เพราะตลาดแรงงานตอนนี้ต้องการคนที่มีความเข้าใจในการทำงานจริง นอกจากนี้ภาคการศึกษาก็ต้องเร่งปรับหลักสูตรให้ตอบโจทย์ตลาดและส่งเสริมให้นักศึกษาได้ฝึกงานเพื่อสร้างประสบการณ์จริงให้มากที่สุด

น่าสนใจว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เด็กจบใหม่จำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance และอยากเป็นผู้ประกอบการกันมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร แต่ถ้าอยากเข้าสู่ระบบการจ้างงานจริง ๆ ต้องเข้าใจสิ่งเหล่านี้

  • เข้าใจระบบการทำงานจริง เมื่อได้งานแล้ว ต้องทุ่มเทเต็มที่
  • ทักษะการทำงานเป็นทีม/สื่อสาร/มารยาทธุรกิจ สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก ต้องได้รับการฝึกฝน
  • ความสามารถในสายงาน ต้องมีทักษะตรงกับอาชีพที่เลือก
  • คิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์ จะช่วยให้งานออกมาดี
  • ความยืดหยุ่นในการทำงาน สิ่งนี้ก็สำคัญในระดับหนึ่ง

แม้ภาคการท่องเที่ยวอย่างโรงแรมและภัตตาคารจะยังเติบโตได้ดี (3.5%) รวมถึงขนส่งและเก็บสินค้า (4.5%) แต่ภาคการผลิตกลับหดตัวเล็กน้อย 0.4% ส่วนผู้เสมือนว่างงาน (คนที่ทำงานไม่ถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) กลับเพิ่มขึ้นถึง 14.6% หรือประมาณ 4.3 ล้านคน! นี่เป็นสัญญาณที่น่ากังวล และ สศช. ก็ยังเน้นย้ำว่าต้องให้ความสำคัญกับการอยู่รอดของ SMEs ด้วย เพราะหลายรายยังขาดการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

สรุปคือ สถานการณ์แรงงานโดยรวมยังคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องเด็กจบใหม่ที่ต้องเร่งพัฒนาตัวเองให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้นนะ

Advertisement

Sidebar Search
Popular Now
Loading

Signing-in 3 seconds...

Signing-up 3 seconds...