โครงการกลุ่มดาวเทียมอวกาศ Polarimeter to Unify the Corona and Heliosphere (PUNCH) ได้ส่งภาพชุดแรกกลับมายังโลกแล้วครับ หลังจากปล่อยขึ้นสู่วงโคจรขั้วโลกไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายของภารกิจคือตรวจสอบชั้นโคโรนา ซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์เปลี่ยนผ่านเป็นลมสุริยะได้อย่างไร และนี่เองเป็นสาเหตุที่เราสามารถเห็นแสงเหนือหรือ Aurora บนโลก
สำหรับ PUNCH ไม่ได้เป็นดาวเทียมเพียงดวงเดียวนะครับ แต่ประกอบไปด้วยดาวเทียมขนาดเล็ก 4 ดวง เพื่อสร้างการตรวจจับทางสภาพอากาศในอวกาศครอบคลุมพื้นที่ 8,000 ไมล์ (ประมาณ 12,875 กิโลเมตร) และใช้เพื่อจับภาพลมสุริยะในแบบ 3 มิติ
ดาวเทียมแต่ละดวงก็จะมีกล้องระดับวิทยาศาสตร์ติดตั้งเอาไว้ ซึ่งจะรวบรวมถ่ายภาพ RAW (ข้อมูลภาพดิบ) 3 แบบ ด้วยฟิลเตอร์โพลาไรซ์ทุก ๆ 4 นาที เลยล่ะครับ
นักวิจัยจากสถาบัน Southwest Research Institute (SwRI) กล่าวว่า ด้วยการทำแบบนี้ทำให้เราสามารถมองเห็น และวิเคราะห์ความเร็วที่แน่นอนของการปลดปล่อยมวลบนชั้นโคโรนาขณะที่เคลื่อนที่ผ่านระบบสุริยะชั้นในได้
ซึ่งจุดนี้เองจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของโคโรนากราฟที่ใช้กันในปัจจุบัน ที่ปกติแล้วสามารถวัดเฉพาะในส่วนโคโรนาแต่วัดในแบบ 3 มิติไม่ได้
เมื่อวันที่ 14 เมษายน ทีมงานได้เปิดใช้งานกล้อง Near Field Imager (NFI) และ Wide Field Imager (WFI) เป็นชุดแรก ก่อนในวันที่ 16 เมษายนจะทำการเปิดกล้อง WFI อีก 2 ตัวที่เหลืออยู่ และทำการทดสอบถ่ายภาพครั้งแรก ซึ่งจากผลลัพธ์ที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงอุปกรณ์ทั้งหมดได้ทำงานอย่างสมบูรณ์ตามที่ออกแบบไว้แล้วครับ
อย่างไรก็ตามลมสุรินะนั้นพัดออกจากดวงอาทิตย์ของเราด้วยความเร็วกว่า 1.6 ล้านกิโลเมตร / ชั่วโมง แต่สำหรับอนุภาคของมันแล้วสว่างน้อยกว่าดวงดาวในพื้นหลังของทางช้างเผือกถึง 0.1% นี่เองจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะมองเห็นมันหากไม่มีอุปกรณ์พิเศษคอยช่วย
จากภาพดิบที่ถ่ายในโครงการด้วยดาวเทียมทั้ง 4 ดวง พบว่าส่วนใหญ่เห็นเพียงดวงดาว และแสงจักรราศี (zodiacal light) เท่านั้น ซึ่งเป็นแสงสะท้อนจากฝุ่นที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะชั้นใน
นักวิจัยจากสถาบัน SwRI ยังกล่าวอีกว่า การกรองดาว และแสงจักรราศีออกจากภาพในขณะที่ต้องเก็บในส่วนสัญญาณลมสุริยะจาง ๆ เอาไว้เป็นอะไรที่ต้องใช้ความแม่นยำสูงมากครับ เพราะหากผิดพลาดไปแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้สัญญาณของลมสุริยะหายไปได้เลยทีเดียว
ปัจจุบันดาวเทียมตัวนี้กำลังอยู่ในช่วงทดสอบ 90 วัน ก่อนเริ่มภารกิจจริงในเดือนมิถุนายน 2025 ที่ใกล้จะถึงนี้ครับ ซึ่งทางศูนย์ปฏิบัติการของ SwRI จะเริ่มประมวลผลข้อมูลที่ได้มาเพื่อแบ่งปันให้กับ NASA และนักวิจัยทั่วโลกต่อไป
ที่มา: PetaPixel