Space Forge บริษัทสตาร์ตอัปจากสหราชอาณาจักร ที่ตั้งอยู่ ณ เมืองคาร์ดิฟฟ์ ประเทศเวลส์ ได้รับเงินทุนรอบ Series A ถึง 22.6 ล้านปอนด์ (ประมาณ 995 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีผลิตวัสดุชิปเซมิคอนดักเตอร์ในอวกาศ ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเพื่อปลดล็อกความเป็นไปได้ใหม่ ๆ
ทั้งความต้องการด้าน AI และรถยนต์ไฟฟ้า ล้วนต้องการวัสดุสำหรับผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ แต่ซิลิกอนซึ่งเป็นวัสดุหลักในตอนนี้ใกล้จะแตะขีดกำจัดแล้ว การผลิตชิปที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงจำเป็นต้องใช้วัสดุใหม่ ๆ ที่อาจหาได้ยากกว่าทรายทั่วไปมาก และไม่แน่ คำตอบอาจอยู่ ‘นอกโลก’ ก็เป็นได้
Space Forge ยังเคยได้รับทุนสนับสนุนสำหรับโครงการจาก BT (British Telecom) สำหรับทดสอบการใช้ผลึกที่ผลิตขึ้นในอวกาศเพื่อนำมาใช้กับเสาสัญญาณ 5G เพื่อลดการใช้พลังงาน และเนื่องจากในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง และคุณสมบัติอื่น ๆ ของอวกาศ ทำให้การผลิตผลึกบนนั้นมีข้อบกพร่องที่น้อยกว่า และใช้พลังงานในการผลิตที่น้อยลงเช่นกัน
โจชัว เวสเทิร์น (Joshua Western) ซีอีโอของบริษัทกล่าวว่า แม้แนวคิดการผลิตชิปในวงโคจรจะฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ความเป็นไปได้กมีการวิจัย และพิสูจน์มานานกว่า 50 ปี แล้ว และตอนนี้ถึงเวลาที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในระดับอุตสาหกรรมจริงจัง
เรากำลังยืนอยู่บนรากฐานของงานวิจัยกว่า 50 ปี ไม่เพียงแค่เพื่อพิสูจน์ว่ามันสามารถทำได้เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การทำเช่นนี้จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
โจชัว เวสเทิร์น (Joshua Western) ซีอีโอของบริษัทกล่าว
การระดมทุนครั้งนี้นำโดย NATO Innovation Fund และมี Northrop Grumman บริษัทด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ เป็นพันธมิตร สะท้อนให้เห็นศักยภาพของโครงการที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้ทั้งภาคพลเรือน (พาณิชย์) จนไปถึงการทหาร เช่น ระบบ ‘Quantum Computing’ และระบบป้องกันของประเทศ
พันธมิตรยังเป็นกุญแจสำคัญสำหรับเส้นทางของ Space Forge เพราะบริษัทจะไม่สร้างจรวดเอง แต่จะพึ่งพาผู้ให้บริการด้านอวกาศที่มีอยู่ในการปล่อยดาวเทียมแทน และไม่ใช่แค่เรื่องจรวดเท่านั้น ตั้งแต่การผลิตชิปในอวกาศไปจนถึงการนำกลับมายังโลก บริษัทได้รวมเอาเทคโนโลยีหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน
Space Forge เลือกวิธีนำวัสดุกลับสู่โลกในลักษณะที่พวกเขาเรียกว่า “Mary Poppins from space” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ดูเหมือนร่มแต่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมในอวกาศได้ และสามารถลอยกลับจากอวกาศสู่พื้นโลกได้อย่างนุ่มนวล
โดยยังมีโล่กันความร้อน ‘Pridwen’ ที่ตั้งชื่อตามตำนานกษัตริย์อาเธอร์ และยังมีการพัฒนาตาข่ายลอยน้ำสำหรับดักจับดาวเทียมที่กลับลงมาในชื่อ ‘Fielder’ เพื่อให้สามารถลงจอดในน้ำได้อย่างปลอดภัย ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก UK Space Agency และ European Space Agency อีกด้วย
กองทุน VC ด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมยังเข้าร่วมเป็นผู้ร่วมลงทุนในรอบ Seed และ Series A ของ Space Forge โดยเล็งเห็นว่าบริษัทนี้มีจุดแข็งในฐานะ ‘เทคโนโลยีคาร์บอนลบ’ ที่สามารถมีบทบาทในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ด้านการลดการปล่อยมลพิษยังคงต้องได้รับการพิสูจน์ในระดับอุตสาหกรรม และขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งานจริงทางพาณิชย์
ย้อนกลับไปในปี 2023 ความพยายามในการส่งจรวดของ Space Forge จบลงในเวลาเพียง 6 นาทีครึ่ง หลังจากที่จรวด Virgin Orbit เกิดปัญหาระหว่างปล่อยจากเมืองคอร์นวอลล์ ส่งผลให้สิ่งที่บรรทุกทั้งหมดสูญหายไป รวมถึงดาวเทียม ForgeStar-0 ของ Space Forge…
ด้วยเงินทุนรอบใหม่นี้ บริษัทกำลังเร่งพัฒนายานรุ่นใหม่ และเตรียมปล่อยดาวเทียม ForgeStar-1 รุ่นทดสอบ พร้อมกับโล่กันความร้อน Pridwen ภายในปีนี้ โดยบริษัทได้ประกาศชื่อภารกิจอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ว่า “The Forge Awakens” ที่แฟน ๆ จักรวาล Star Wars คงจะเข้ากันใจกันดี
ที่มา: TechCrunch