Hyperloop Transportation Technologies (HTT) วางแผนออกแบบระบบการขนส่งสินค้าในบราซิลใหม่หมด ด้วยโครงการ HyperPort สร้างทางรถไฟความเร็วสูง ที่สามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12.2 เมตร ในท่อสูญญากาศ ด้วยความเร็วที่เทียบเท่ากับการขนส่งด้วยเครื่องบิน
ปัจจุบัน ท่าเรือซานโตสของบราซิลนั้น เป็นท่าเรืออันดับ 40 ของโลก ถือเป็นท่าเรือตู้สินค้าที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในละตินอเมริกาทั้งหมด มีการขนส่งและจัดการตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12.2 เมตร มากกว่าปีละ 5 ล้านตู้ รองรับรถบรรทุกสามารถเข้าและออกจากท่าเรือได้วันละ 3,000 -15,000 คัน แต่ปัญหาคือ การขับรถไปส่งของในเมืองเซาเปาโล กินเวลามากกว่า 2 ชั่วโมง เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขา หากการจราจรติดขัดก็จะทำให้การขนส่งล่าช้าไปอีก
ทาง HTT จึงดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ HyperPort ภายใต้ความร่วมมือกับ LabTrans จากมหาวิทยาลัย Federal University of Santa Catarina และ EGA Group บริษัทโลจิสติกส์ท่าเรือของบราซิล โดยมีเป้าหมายในการสร้างเส้นทางขนส่งสินค้าจากท่าเรือ Santos ไปยังเมืองเซาเปาโล และเมืองอื่น ๆ รวมถึงท่าเรือสำคัญที่ห่างไกลออกไปในเวลาที่รวดเร็วขึ้น
Hyperloop มีลักษณะเป็นแคปซูล ออกแบบมาเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ด้วยความเร็วประมาณ 595 กม./ชม. ทั้งขาไป และกลับจากท่าเรือ ย่นระยะเวลาการขนส่งให้เหลือแค่ 20-30 นาทีเท่านั้น
มีการคาดการณ์ว่า หากใช้ Hyperloop ขนส่งไปกลับวันละ 4,810 แคปซูลระหว่างเซาเปาโล และท่าเรือซานโตส จะช่วยลดปริมาณรถบรรทุกบนถนนได้ถึง 4,000 คันต่อวัน
มีการประเมินตัวเลขว่าการก่อสร้าง HyperPort นั้น ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาล แยกเป็นสองส่วนคือ ค่าลงทุนก่อสร้างนั้นจะใช้งบราว ๆ 9,600 ล้านเหรียญ ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานจะอยู่ที่ 1,600 พันล้านเหรียญ ตลอดอายุการใช้งาน
ดังนั้นในช่วงแรก HTT อาจจะให้ความสำคัญกับเส้นทางท่าเรือซานโตสถึงเมืองคัมปินัส ในระยะทาง 169 กม. เพราะว่าเป็นเส้นทางที่ทำกำไรได้มากที่สุดก่อน คาดว่าเส้นทางนี้ จะสร้างรายได้รวมมากกว่า 17,100 ล้านเหรียญ
หากรัฐบาลบราซิลอนุมัติเงินลงทุนให้โครงการนี้ทั้งหมด คาดว่าจะให้อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 62.7% แต่การลงทุนก่อสร้างนั้น อาจจะพิจารณารูปแบบอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยง เช่น การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน
ในแง่ของสิ่งแวดล้อมนั้น ทาง HTT เคลมว่า ภายในปี 2060 HyperPort จะช่วยลดการปล่อย CO2 ได้ประมาณ 906 ตันต่อวัน นอกจากมูลค่าทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเกิดประโยชน์ทางอ้อมได้อีกหลายอย่าง เช่น การลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ลดการพังของท้องถนนที่เกิดจากรถบรรทุก ทำให้งบประมาณในการซ่อมแซมน้อยลง เป็นต้น
ส่วนขั้นตอนต่อไปของ HTT คือ การทำการศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิค เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม (EVTEA) ให้เสร็จสิ้น รวมถึงทำแผนโมเดลการระดมทุนและรออนุมัติจากรัฐบาลบราซิล ซึ่งการผ่านขั้นตอนเหล่านี้ ต้องใช้เวลาและไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เราต้องมารอลุ้นว่า ระบบขนส่งสินค้าแห่งอนาคตนี้จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่
ที่มา newatlas