ระบบอัตโนมัติในที่ทำงานช่วยลดงานซ้ำซากให้กับมนุษย์ ช่วยให้แรงงานมีเวลามากขึ้น ทำให้สามารถใช้เวลาว่างนั้นในงานที่ต้องใช้การตัดสินใจจากมนุษย์ อย่างไรก็ตามงานวิจัยล่าสุดกลับตั้งคำถามว่า หุ่นยนต์ได้ช่วยให้ชีวิตการทำงานของพนักงานพัฒนาขึ้นอย่างแท้จริงหรือไม่
หนึ่งในงานวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์ มิเลนา นิโคโลวา (Milena Nikolova) จากมหาวิทยาลัย Groningen วิเคราะห์ข้อมูลทั่วยุโรปและพบว่าพนักงานในฝ่ายที่มีระบบอัตโนมัติสูงมักพบกับปัญหาการสูญเสียจุดมุ่งหมายในการทำงาน ซึ่งแทนที่พวกเขาจะรู้สึกเป็นอิสระ กลับมีหลายกรณีที่พนักงานรู้สึกว่างานของตนซ้ำซาก น่าเบื่อหน่าย
นิโคโลวา เผยว่า การใช้หุ่นยนต์จะต้องมีการคิดกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน ทำให้พนักงานต้องตัดสินใจเกี่ยวกับงานน้อยลง และการสูญเสียอำนาจในการตัดสินใจก็ส่งผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมและความพึงพอใจในงาน
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาแรงงานในประเทศจีนที่ค้นพบว่า ระบบอัตโนมัติช่วยลดภาระทางกายได้จริง แต่กลับเพิ่มความกังวลถึงความมั่นคงในหน้าที่การงาน ซึ่งจากตารางด้านล่างจะเห็นได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2014 และ 2023 แล้วมีหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และจีน ที่มีจำนวนหุ่นยนต์ต่อจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่อพนักงาน แต่บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ยังคงมองสถานการณ์ในปัจจุบันในแง่บวกอยู่ โดยบริษัทต่าง ๆ เช่น ABB กำลังพัฒนา collaborative robots ที่เป็นหุ่นยนต์ซึ่งง่ายต่อการเข้าถึงและบังคับ หรือ Fanuc ที่พยายามสำรวจและพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถอ่านและตอบสนองอารมณ์ของมนุษย์ได้
ทั้งนี้นิโคโลวามองว่า การเน้นย้ำให้พัฒนามีส่วนเข้าถึงกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก รวมถึงการเสนอโอกาสในการรีสกิลให้กับพนักงาน เธอยังเสริมอีกว่า แม้ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแย่งงานบางส่วนของมนุษย์ แต่มันก็เปิดโอกาสให้กับตำแหน่งและหน้าที่ใหม่ ๆ
ที่มา : Techspot